วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราบิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiasna ) เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ซึ่งสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด ในอันดับ Homoptera Lepidoptera Coleoptera และ Diptera ซึ่งได้แก่แมลงจำพวกเพลี้ยต่างๆ หนอนผีเสื้อ ด้วง และแมลงวัน หรือยุง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสามารถกำจัดปลวก และมดคันไฟได้ ทำให้มดและปลวกตายยกรังได้
กลไกการเข้าทำลายแมลงของเชื้อราบิวเวอร์เรีย คือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลง ในสภาพความชื้นที่เหมาะสม (ความชื้นสัมพัทธ์ 50 % ขึ้นไป) จะงอกเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร แมลงจะตายในที่สุด ภายในระยะเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวัยของแมลง โดยทั่วไปประมาณ 3 - 14 วัน เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถนำมาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น แมลงศัตรูพืชเป้าหมายในข้าว ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว หนอนห่อใบ ในมะม่วงได้แก่ เพลี้ยจักจั่นที่ทำลายช่อมะม่วง แมลงค่อมทอง ในพืชตระกูลส้มได้แก่ เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง ในพืชผักได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงหวี่ขาว หนอนผีเสื้อต่างๆ ในอ้อยได้แก่ แมลงค่อมทอง เป็นต้น
การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียควบคุมศัตรูพืช
1. เนื่องจากเชื้อค่อนข้างอ่อนแอต่อแสงแดด และอุณหภูมิสูง จึงควรใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ
2. ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด ให้ใช้วิธีและอัตราการใช้ที่ระบุไว้ในฉลาก
3. เชื้อราบิวเวอร์เรียชนิดสด ที่รับจากศูนย์บริหารศัตรูพืช หรือที่เกษตรกรผลิตขยายได้เอง ใช้ในอัตราก้อนเชื้อ 1 กิโลกรัม ( 2 ถุง) ต่อน้ำ 25 – 50 ลิตร โดยนำก้อนเชื้อใส่ลงในตาข่ายเขียว แล้วนำไปยี หรือขยี้ในน้ำให้สปอร์เชื้อราหลุดจากเมล็ดข้าวโพดลงไปในน้ำ นำเมล็ดข้าวโพดออกทิ้งไป แล้วนำน้ำที่ได้ไปฉีดพ่น
4. ระหว่างที่ฉีด ให้กวนน้ำเป็นระยะ และควรปรับหัวฉีดให้พ่นฝอยละเอียด จะฉีดได้ผลดีและได้พื้นที่เพิ่มขึ้น
5. เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด รวมถึงแมลงศัตรูธรรมชาติบางชนิดด้วย ดังนั้นถ้าหากพบว่ามีศัตรูธรรมชาติอยู่มาก ก็ควรงด หรือชะลอการฉีดออกไป
6. เชื้อราจะเข้าทำลายแมลงได้ในสภาพที่มีความชื้นสูง ดังนั้น การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในช่วงฤดูแล้ง หรืออากาศแห้งแล้ง อาจจำเป็นต้องเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ หรือพ่นละอองน้ำ ก่อนและหลังการใช้
การผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรีย
เกษตรกรสามรถผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรียใช้ได้เอง โดยขอรับหัวเชื้อจากศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี นำมาต่อเชื้อลงในเมล็ดข้าวโพด ซึ่งมีขั้นตอนลัวิธีการดังนี้
1. เตรียมวัสดุเลี้ยงเชื้อ
เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถเจริญเติบโตได้ดีบนเมล็ดธัญพืชทุกชนิด แต่เมล็ดธัญพืชที่ เหมาะสมที่สุดคือ เมล็ดข้าวโพด เพราะมีขนาดใหญ่ ทำให้มีช่องว่างมาก เมล็ดข้าวโพดที่จะนำมาใช้ต้องไม่เป็นเมล็ดที่คลุกสารเคมี หรือสารกำจัดเชื้อรา การเตรียมเมล็ดข้าวโพดสำหรับเลี้ยงเชื้อราบิวเวอร์เรียทำได้โดย นำเมล็ดข้าวโพดมาล้างให้สะอาด แล้ว
• ทำให้เมล็ดอุ้มน้ำด้วยการแช่เมล็ดไว้ 1 คืน (หรือใช้วิธีต้มประมาณ 30 นาที)
• นำมาพึ่งให้หมาดน้ำ (ให้ผิวแห้ง)
• นำมากรอกใส่ถุง (ถุงเพาะเห็ด : ถุงทนความร้อนชนิดขยายข้าง ขนาด 6 ? 12 นิ้ว) ถุงละประมาณ 4 – 5 ขีด (หรือสูงประมาณ 4 นิ้ว ) สวมปากถุงด้วยคอขวด ลึกประมาณ 3 นิ้ว แล้วพับปากถุงลง อุดด้วยสำลี หรือขี้ฝ้าย แล้วหุ้มปากถุงด้วยกระดาษ รัดด้วยยางวง
2. นึ่งฆ่าเชื้อ
เมื่อเตรียมถุงเมล็ดข้าวโพดเสร็จแล้วให้นำไปนึ่ง เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในถุง
• ถ้าใช้หม้อนึ่งความดัน ใช้ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว อุณหภูมิ 121 องศา เซลเซียส ใช้เวลานึ่ง 30 นาที
• กรณีใช้หม้อนึ่งลูกทุ่ง (ทำจากถังแกลอน) ใช้เวลานึ่งอย่างน้อย 3 ชั่วโมง นับ จากน้ำเดือด หลังจากนึ่งเสร็จแล้วนำมาวางทิ้งไว้รอให้เย็น แล้วแกะกระดาษที่หุ้มปากถุงออก
3. การเขี่ยเชื้อ
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเขี่ย เชื้อราบิวเวอร์เรีย ประกอยด้วย ตู้เขี่ยเชื้อ ตะเกียง แอลกอฮอล์ (และแอลกอฮอล์ 95 % สำหรับเติมตะเกียง)
เข็มเขี่ยเชื้อ และแอลกอฮอล์ 70 % สำหรับฆ่าเชื้อ
- เตรียมอุปกรณ์ ด้วยการทำความสะอาดตู้ แล้วเช็ดฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70 % (นำแอลกอฮอล์ใส่ฟ๊อกกี้ ฉีดภายในตู้ให้ทั่วแล้วเช็ดด้วยสำลี)
- นำอุปกรณ์ใส่เข้าไปในตู้ ได้แก่ ตะเกียงแอลกอฮอล์ แก้วน้ำที่แช่เข็มเขี่ยเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70 % หัวเชื้อ โดยเช็ดผิวด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ก่อนนำเข้าตู้
- นำถุงเมล็ดข้าวโพดที่นึ่งแล้วใส่เข้าไปในตู้ ด้านซ้ายมือ แล้วปิดตู้
- เริ่มทำการเขี่ยเชื้อโดยสอดมือเข้าไปภายในตู้ (ก่อนสอดมือเข้าไปต้องเช็ดมือและแขนด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ทุกครั้ง) จุดตะเกียง ใช้มือขวาจับเข็มเขี่ยด้วยสามนิ้ว (โป้ง ชี้ กลาง) นำมาลนไฟที่ปลายให้แดง แล้วลนมาทางด้ามจับ 2 – 3 ครั้ง
a - ใช้มือซ้ายจับขวดหัวเชื้อ แล้วเปิดจุกสำลีโดยใช้นิ้วก้อยของมือขวา ลนไฟที่ปากขวด 2 – 3 ครั้ง
b – สอดเข็มเขี่ยเชื้อเข้าไปตัดวุ้นในขวด ชิ้นละประมาณ ? ตารางเซนติเมตร แล้วจิ้มออกมาจากขวด
c – ลนปากขวดอีก 2 – 3 ครั้งก่อนปิดสำลีเข้าที่เดิม
d – มือซ้ายวางขวดหัวเชื้อแล้วหยิบถุงเมล็ดข้าวโพกมาเปิดจุกสำลีด้วยนิ้วก้อยของมือขวา ลนปากถุงเล็กน้อย แล้วใส่หัวเชื้อที่ติดปลายเข็มเข้าไปในถุง
e – ลนปากถุงเล็กน้อยก่อนปิดปากถุง แล้วเขย่าถุงเบาๆ นำถุงที่ใส่เชื้อแล้วมาวางด้านขวามือ
- ถุงต่อไป ลนเข็มเขี่ย 2 – 3 ครั้ง แล้วทำตามขั้นตอน a – e จนกระทั่งใส่หัวเชื้อหมดทุกถุงในตู้ แล้วนำเข็มแช่ในแก้วแอลกอฮอล์ ดับตะเกียง แล้วนำถุงเมล็ดข้าวโพดที่ใส่หัวเชื้อแล้วออกจากตู้
4. การบ่มเชื้อ
นำถุงเมล็ดข้าวโพดที่ใส่เชื้อแล้ว ไปวางไว้ในสภาพอากาศปกติ อากาศถ่ายเทได้ มีแสงสว่างปกติ แต่ไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง เชื้อจะเจริญเติบโตจนเต็มเมล็ดข้าวโพด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เมื่อเชื้อเดินเต็มแล้วก็นำไปใช้ได้
การเก็บรักษาเมื่อเชื้อเดินเต็มแล้ว ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น จะทำให้เก็บไว้ได้นานขึ้น

2. เชื้อราไตรโคเดอร์มา
( Trichoderma sp. )

3. เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราปฏิปักษ์ของเชื้อราโรคพืช โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มาจะไปลดกิจกรรมการดำเนินชีวิตของเชื้อราโรคพืช เช่น ยับยั้งการเจริญเติบโต ยับยั้งการขยายพันธุ์ ด้วยกลไกสามประการ คือ
1. การทำลายโดยตรง โดยการกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร
2. การแก่งแย่งที่อยู่อาศัย และสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
3. การสร้างสารปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายต่อเชื้อโรคชนิดอื่น
นอกจากนี้ เชื้อราไตรโคเดอร์มายังมาช่วยกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคพืช กระตุ้นให้รากพืชเจริญเติบโตดีขึ้น ทำให้รากยาวและแข็งแรง และเมื่ออยู่ในดินจะสร้างสารที่ไปละลายธาตุอาหารในเม็ดหินและดินให้ละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืช
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในดินทั่วไป มีหลายชนิด หลายสายพันธุ์ ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรคพืช โดยมุ่งเน้นไปที่เชื้อราโรคพืชที่เกิดจากดิน พบว่าสามารถควบคุมเชื้อราโรคพืชได้ดีหลายชนิด เช่น เชื้อไฟทอปธอร่า, พิเที่ยม, ฟิวซาเรี่ยม, สเครอโรเที่ยม, ไรซ็อคโทเนี่ย เป็นต้น ซึ่งเชื้อราเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคพืชต่างๆ ได้แก่ โรครากเน่าโคนเน่า โรคผลเน่า โรคกล้าเน่าหรือกล้ายุบ โรคเน่าระดับดิน โรคเหี่ยวในพืชตระกูลพริก โรคถอดฝักดาบของข้าว เป็นต้น ปัจจุบันพบว่า นอกจากจะเป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราโรคพืชที่อยู่ในดินแล้ว ยังสามารถใช้ในการป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืชในส่วนต่างๆของพืชที่อยู่เหนือดินได้ดีเช่นกัน เช่น โรคไหม้ในข้าว โรคแอนแทรกโนสในพริก เป็นต้น และมีแนวโน้มที่จะมีผลไปกระตุ้นให้พืชมีความต้านทานต่อเชื้อไวรัสโรคพืชได้อีกด้วย จึงนับว่าเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเกษตร
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มามาควบคุมโรคพืช
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควรใช้ในช่วงเวลาที่แดดอ่อน เหมือนกับชีวภัณฑ์ชนิดอื่นๆ สามารถนำมาใช้ทั้งในด้านป้องกันและรักษาโรค โดยมีวิธีการใช้ 3 วิธี
1. ใช้คลุกเมล็ดพืช หรือส่วนขยายพันธุ์ของพืชที่จะนำไปปลูก เช่น หัว แง่ง เหง้า กลีบ ฯลฯ โดยใช้เชื้อราไตรโตเดอร์มาชนิดเชื้อสดที่เจริญอยู่บนเมล็ดข้าวฟ่าง หรือข้าวเปลือกในอัตรา 1 ช้อนโต๊ะ
ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
2. ใส่เชื้อลงในดิน โดยการผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา กับรำละเอียด และปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายแล้วในอัตรา เชื้อสด 1 กก. (2 ถุง) รำ 5 กก. และปุ๋ยหมัก 50 กก. นำเชื้อคลุกเคล้ากับรำให้เข้ากันดีก่อน แล้วจึงผสมกับปุ๋ยหมัก หากปุ๋ยหมักแห้งเกินไปให้พรมน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ หลังจากผสมแล้วใช้ให้หมดภายใน 1 วัน สามารถใช้ได้กับพืชทุกระยะการเจริญเติบโต ดังนี้
- ใช้ผสมดินเพาะกล้า อัตรา ส่วนผสม 1 ส่วน/ดินเพาะกล้า 4 ส่วน
- ใช้หว่านลงในแปลงก่อนหรือหลังปลูก (พืชไร่ พืชผัก) ใช้ส่วนผสม 200 กรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
- ใช้รองก้นหลุม (ไม้ผล หรือพืชที่ปลูกเป็นหลุม) ใช้ส่วนผสม 300 – 500 กรัมต่อหลุม
- หว่านรอบโคนต้นและภายในทรงพุ่ม (ไม้ผล) 300 – 500 กรัมต่อตารางเมตร หรือ นับอายุไม้ผล คือ อายุ 1 – 5 ปี ใช้ 1 – 5 กก./ต้น อายุเกิน 5 ปี ใช้ 5 กก./ต้น
หลังจากหว่านแล้วใช้วัสดุคลุมดิน (เช่น ฟางข้าว) หากไม่มีให้คราดหรือเกลี่ยดินกลบบางๆ เพื่อป้องกันแสงแดด หลังจากนั้นรดน้ำให้พอชุ่ม
3.วิธีผสมน้ำ ได้แก่การนำเชื้อสดไปยีในน้ำเพื่อให้สปอร์ของเชื้อราหลุดจากเมล็ดลงไปใน ในน้ำ กรองเอาเมล็ดออก แล้วนำน้ำที่ได้ไปใช้ อัตราการใช้ เชื้อสด 1 กก. (2 ถุง)
ต่อน้ำ 100 – 200 ลิตร นำน้ำที่ได้จากการยีล้างสปอร์ไปใช้ดังนี้
- ฉีดพ่นให้ทั่วต้นพืช เพื่อป้องกันกำจัดโรคพืช (ที่เกิดจากเชื้อรา) ที่อยู่บนใบ ต้น กิ่ง หรือผล
- ใส่บัวรดน้ำรดไปที่ดิน ใช้กับโรครากเน่าโคนเน่า
- ปล่อยไปกับระบบน้ำหยด หรือสปริงเกอร์
4. วิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา
มีวิธีการผลิตจำแนกได้ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ ผลิตโดยไม่นึ่งวัสดุเลี้ยงเชื้อ และผลิตโดยการนึ่งวัสดุเลี้ยงเชื้อ ซึ่งมีวิธีการดังนี้
1. การผลิตอย่างง่ายโดยไม่ต้องนึ่งวัสดุเลี้ยงเชื้อ วิธีนี้ได้แก่ การใช้ปลายข้าว หรือข้าวสารมาเป็นวัสดุเลี้ยงเชื้อ เป็นวิธีที่ง่าย เหมาะสำหรับการทำเชื้อใช้เองในระดับครัวเรือน แต่ไม่เหมาะที่จะทำในปริมาณมากๆ วิธีการคือ
1) หุงข้าว หรือปลายข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ในอัตรา ข้าว 3 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน (สำหรับข้าวแข็ง) หรือ ข้าว 5 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน (สำหรับข้าวใหม่ หรือข้าวอ่อน) ซึ่งเมื่อหุงออกมาแล้วจะได้ข้าวในลักษณะกึ่งสุกกึ่งดิบ
2) เมื่อหม้อหุงข้าวดีดให้ตักใส่ถุงขณะที่ยังร้อน โดยใช้ถุงทนร้อนขนาด ประมาณ 8 ? 11 นิ้ว ใส่ถุงละประมาณ 250 กรัม (ประมาณ 3 ทัพพี) แล้วพับปากถุงทิ้งไว้ให้เย็น
3) เมื่อข้าวเย็น (เหลือความอุ่นเล็กน้อย) นำมาใส่หัวเชื้อไตรโคเดอร์มา ถุงละ 2 – 3 กรัม (หรือประมาณเท่าเมล็ดข้าวโพด 1 เมล็ด) ต่อถุง แล้วเย็บปากถุงด้วยลวดเย็บกระดาษ หรือใช้ยางวงรัดปากถุงให้แน่น จากนั้นขยำหัวเชื้อคลุกกับข้าว แล้วใช้เข็มแทงถุงเพื่อระบายอากาศ 30 – 40 รู การใส่หัวเชื้อควรทำในที่ที่ไม่มีลม เช่นในห้องที่ปิดมิดชิด
4) นำ ถุงข้าวที่ใส่เชื้อแล้วไปวางในที่ร่ม รอให้เชื้อเดน การวางถุงให้วางราบกับพื้นและเกลี่ยข้าวให้แบนบางๆ พร้อมกับโหย่งถุงด้านบนขึ้น เพื่อให้อากาศไหลเวียนได้ทั่วถุง วางทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน เชื้อจะเดินเต็มถุง กำนำไปใช้ได้
2. การผลิตโดยการนึ่งวัสดุเลี้ยงเชื้อ ใช้วิธีการเตรียมวัสดุเช่นเดียวกับการผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรีย วิธีนี้เหมาะสำหรับการผลิตในปริมาณมาก เช่น รวมกลุ่มช่วยกันผลิต หรือการผลิตเพื่อจำหน่าย ซึ่งจะมีความสม่ำเสมอมากกว่าวิธีแรก และเก็บรักษาได้นานกว่า มีขั้นตอน และวิธีการดังนี้
5. 1. เตรียมวัสดุเลี้ยงเชื้อ
เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถเจริญได้บนเมล็ดธัญพืชทุกชนิดเช่นเดียวกัน แต่ขนาดเมล็ดที่เหมาะสมที่จะทำให้ได้สปอร์มาก คือ ขนาดปานกลาง เช่น เมล็ดข้าวฟ่าง หรือเมล็ดข้าวเปลือก โดยเมล็ดที่นำมาใช้ต้องไม่เป็นเมล็ดที่คลุกสารเคมี หรือสารกำจัดเชื้อรา การเตรียมเมล็ดข้าวฟ่าง หรือข้าวเปลือกสำหรับเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มาทำเหมือนกับการเตรียมเมล็ดข้าวโพดเพื่อเลี้ยงเชื้อราบิวเวอร์เรีย คือ นำเมล็ดข้าวเปลือก หรือข้าวฟ่างมาล้างให้สะอาด
• ทำให้เมล็ดอุ้มน้ำด้วยการแช่เมล็ดไว้ 1 คืน (หรือใช้วิธีต้มประมาณ 30 นาที)
• นำมาพึ่งให้หมาดน้ำ (ให้ผิวแห้ง)
• นำมากรอกใส่ถุง (ถุงเพาะเห็ด : ถุงทนความร้อนชนิดขยายข้าง ขนาด 6 ? 12 นิ้ว) ถุงละประมาณ 4 – 5 ขีด (หรือสูงประมาณ 4 นิ้ว ) สวมปากถุงด้วยคอขวด ลึกประมาณ 3 นิ้ว แล้วพับปากถุงลง อุดด้วยสำลี หรือขี้ฝ้าย แล้วหุ้มปากถุงด้วยกระดาษ รัดด้วยยางวง
6. 2. นึ่งฆ่าเชื้อ
เมื่อเตรียมถุงเมล็ดข้าวโพดเสร็จแล้วให้นำไปนึ่ง เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในถุง
• ถ้าใช้หม้อนึ่งความดัน ใช้ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว อุณหภูมิ 121 องศา เซลเซียส ใช้เวลานึ่ง 30 นาที
• กรณีใช้หม้อนึ่งลูกทุ่ง (ทำจากถังแกลอน) ใช้เวลานึ่งอย่างน้อย 3 ชั่วโมง นับ จากน้ำเดือด หลังจากนึ่งเสร็จแล้วนำมาวางทิ้งไว้รอให้เย็น แล้วแกะกระดาษที่หุ้มปากถุงออก
7. 3. การเขี่ยเชื้อ
การเขี่ยเชื้อไตรโคเดอร์มา ไม่จำเป็นต้องทำในตู้เขี่ยเชื้อ แต่ควรทำในที่ที่ลมสงบ และก่อนที่จะเขี่ยเชื้อให้ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อที่พื้นโต๊ะด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ที่มือและช้อนก็เช็ดแอลกอฮอล์ด้วยเช่นเดียวกัน การเขี่ยเชื้อทำโดยใช้ช้อนตักหัวเชื้อใส่ลงในถุงข้าวเปลือก หรือข้าวฟ่างที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ถุงละ 2 – 3 กรัม ปิดจุกสำลีไว้เหมือนเดิม และเขย่าถุงเล็กน้อย
8. 4. การบ่มเชื้อ
9. นำถุงข้าวเปลือก หรือข้าวฟ่างที่ใส่เชื้อแล้ว ไปวางในที่ร่มอุณหภูมิปกติประมาณ 7 วัน เชื้อจะเดินเต็มถุงพร้อมที่จะนำไปใช้ได้ การเก็บรักษาหลังจากที่เชื้อเดินเต็มแล้ว ควรเก็บไว้ในที่แหงและเย็นจะเก็บได้นานขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น